วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

คำถามที่ว่า "หลวงพ่อธัมมชโย ป่วยจริงหรือไม่ และป่วยเป็นอะไรกันแน่ ?

คำถามที่ว่าหลวงพ่อธัมมชโย ป่วยจริงหรือไม่ และป่วยเป็นอะไรกันแน่ ?

        วันนี้ผมจะมาลองวิเคราะห์ให้ท่านที่สนใจเรื่องนี้ได้อ่านกันครับ โดยอาศัยข้อมูลจากการแถลงข่าวของวัดพระธรรมกาย และตามใบรับรองแพทย์ที่สื่อนำออกมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา รวมกับประสบการณ์ความเป็นศัลยแพทย์ของผมอีก 20 ปีเศษ ดังนี้ครับ
        1. พบว่ามีภาวะหลอดเลือดดำของขาอุดตัน (Deep Vein Thrombosis (DVT)) เรื้อรัง ตลอดแนวจากขาซ้าย ขึ้นมาถึงจุดแยกหลอดเลือดดำใหญ่ที่รับเลือดดำจากขาซ้ายทั้งหมด (อุดตันด้านซ้ายจาก Popliteal vein, Deep/Superficial femoral vein, Common femoral vein, External/Internal iliac vein จนถึงโคนของ Common iliac vein) โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพ MRV จะเห็นโคนหลอดเลือดแดงที่แยกไปขาด้านขวา (Right common iliac artery) กดทับโคนหลอดเลือดดำ ที่รับเลือดดำมาจากขาด้านซ้ายไว้ (Common iliac vein) กรณีนี้เรียกว่า May–Thurner syndrome (MTS) หรือ iliac vein compression syndrome ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด DVT ในผู้ป่วยท่านนี้ และเป็นจุดสูงสุดของการอุดตัน เห็นได้ชัดเจนว่าหลอดเลือดดำหลักของขาซ้ายที่ต่ำกว่าจุดนี้หายไปหมด (ลูกศรชี้ด้านซ้ายมือ มีแต่ความว่างเปล่า) พอเป็น DVT เรื้อรัง ร่างกายก็จะพยายามปรับตัว โดยใช้หลอดเลือดดำขนาดเล็กจำนวนมาก ช่วยลำเลียงเลือดกลับหัวใจ แทนเส้นหลักที่อุดต้นไป จากภาพ MRV จะเห็นเส้นทางเบี่ยงหลายเส้น อ้อมขึ้นทางต้นขาซ้ายด้านนอก มาที่สะโพกซ้าย แล้วไหลเข้าหลอดเลือดดำใหญ่แนวกลางลำตัว (IVC) บริเวณบั้นเอวและชายโครงด้านซ้ายหลายระดับ ซึ่งเป็นการ bypass เส้นเลือดหลักที่ถูกอุดต้นไป

       2. พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนจาก DVT ในระยะยาวคือ มีภาวะเลือดดำพร่องเรื้อรัง (Chronic venous insufficiency (CVI)) เห็นได้จากขาบวมมากและมีอาการปวดเรื้อรัง ผิวหนังแดงคล้ำ หยาบกร้าน หนังหนาลอก ถ้าภาวะ CVI มีอาการรุนแรงขึ้น ก็จะมีแผลเรื้อรังบริเวณปลายขาหรือเท้าได้เนื่องจากการขาดเลือดจากการหยุดไหลเวียนของหลอดเลือดดำบริเวณนั้นๆ จากภาพมีแผลเรื้อรัง (venous stasis ulcer) จากภาวะ CVI บริเวณใกล้ตาตุ่มด้านในของข้อเท้าด้านซ้าย ซึ่งไม่เหมือนโรคแผลเรื้อรังจากเบาหวาน (Diabetic foot) เป็นคนละอย่างกัน ถ้าเป็นจากเบาหวานจะเป็นบริเวณฝ่าเท้า และต้องมีอาการชาฝ่าเท้าทั้ง 2ข้างร่วมด้วย แผลเรื้อรังจาก CVI นี้เป็นภาวะที่อันตรายมากถ้ามีการติดเชื้อ เพราะเชื้อโรคจะลามเข้าสู่ส่วนอื่นของขาที่บวมแดงที่เห็นได้อย่างรวดเร็ว ถ้าควบคุมการติดเชื้อไม่ได้หรือขาบวมมากขึ้นจนเลือดดำหยุดไหลเวียนทำให้เนื้อที่ขาตาย ก็จะต้องตัดขาเพื่อรักษาชีวิตในที่สุด การที่ผู้ป่วยมีโรคเบาหวานร่วมด้วย ก็จะทำให้แผลหายยากและการติดเชื้อรุนแรงขึ้นไปอีกได้

      3. พบว่ามีภาวะแทรกซ้อน ลิ่มเลือดอุดตันเฉียบพลันของหลอดเลือดดำทางเบี่ยง (Acute collateral venous thrombosis) เป็นจำนวนมากบริเวณต้นขาซ้ายด้านนอก ยืนยันได้จากภาพ MRV บริเวณลูกศรชี้ด้านขาวมือของต้นขาซ้ายด้านนอก และมีภาพอัลตร้าซาวด์ เห็นลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำที่ใช้เป็นทางเบี่ยงบริเวณต้นขาซ้ายด้านนอก ตำแหน่งเดียวกับที่เห็นในภาพ MRV ดูภาพลิ่มเลือดจากอัลตร้าซาวด์น่าจะเกิดได้ไม่นานเพราะภาพถ่ายลิ่มเลือดสียังมีสีดำ (hypoechoic) ลิ่มเลือดใหม่นี้ทำให้การไหลเวียนของเลือดดำกลับหัวใจยากขึ้นไปอีก ขาจึงขาดเลือดมากขึ้น จะทำให้ปวดขามากขึ้น ขาจะบวมและคล้ำมากขึ้น จนมีโอกาสเขียวคล้ำเกือบทั้งขาได้ (Phlegmasia cerulea dolmens (PCD)) ทำให้นำไปสู่การขาดเลือดอย่างถาวรจนเกิดเนื้อตายเนื่องจากหลอดเลือดดำอุดตันได้ (Venous gangrene) จนจำเป็นต้องตัดขาในที่สุด และภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอีกอย่างคือ ลิ่มเลือดจากหลอดเลือดดำหลุดเข้าหัวใจ แล้วทำให้ ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงปอดเฉียบพลัน (Acute pulmonary embolism (PE)) ถ้าก้อนไม่ใหญ่ก็จะมีอาการไม่ชัดเจน แต่ถ้าก้อนใหญ่จะเสียชีวิตทันที กรณีหลวงพ่อธัมมชโย มีอาการเหนื่อยไม่ทราบสาเหตุบ่อย ควรจะตรวจดูเพิ่มเติมเรื่องนี้ด้วยครับ ที่แถลงข่าวไม่เห็นกล่าวถึง MRI/MRA ของหลอดเลือดแดงขั้วปอดเลย

       4. มีภาวะอื่นๆ ที่แจ้งไว้ เช่น โรคเบาหวาน (DM) ไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia (DLP)) ความดันโลหิตสูง(HT) ภูมิแพ้ และมีอายุมากถึง 72 ปีเศษ

       ราว 1 ปีที่ผ่านมาผมได้ตรวจวินิจฉัยหญิงตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์ 3วัน ร่วมกับขาขวาบวมมากมา 1 วัน 1 วันก่อนไปหาหมอสูตินรีแพทย์ที่ฝากท้องและได้อัลตร้าซาวด์ดูเด็กแล้ว บอกว่าไม่เป็นอะไรมาก ผู้ป่วยไม่สบายใจจึงมาตรวจซ้ำ ผมได้ตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์ดูหลอดเลือดของขา พบว่ามีลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำของขาซ้าย ภาพจากอัลตร้าซาวด์ลิ่มเลือดยังมีสีดำ (hypoechoic) แสดงว่าเป็น DVT ชนิดเฉียบพลันและรุนแรงยาวตลอดแนว (อุดตันจาก popliteal vein, common/superficial femoral ไปจนถึง common/external iliac vein ของขาซ้าย) จึงส่งให้แพทย์ทางด้านสูตินรีแพทย์ดูแลต่อ ผลสุดท้าย แม่รอดตายและหายเป็นปกติ แต่เด็กเสียชีวิตเพราะมีเลือดออกในสมองจากการคลอด เกิดจากยาที่รักษาโรค DVT เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ยานี้จะทำให้เลือดแข็งตัวช้าและเลือดออกภายในได้ ไม่ใช่แต่ลูกเท่านั้นที่มีโอกาสเลือดออกภายใน แต่รวมถึงแม่ด้วย ดั้งนั้น ยังมีเรื่องที่ต้องผจญภัยอีกมาก หลังจากเริ่มให้การรักษาครับ เช่น ถ้าให้ลงเดินเร็วไป ลิ่มเลือดยังเกาะผนังหลอดเลือดไม่แน่นพอ ก็มีโอกาสหลุดไปหัวใจทำให้เกิด PE เสียชีวิตได้ แต่ถ้าให้ลงฝึกเดินช้า เนื่องจากอายุมาก ก็จะทำให้กล้ามเนื้อฝ่ออ่อนแรง เดินไม่ไหว จะยิ่งแย่กันไปใหญ่ครับ จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดโดยทีมแพทย์ที่มีความชำนาญ อย่างต่อเนื่องครับ

       เขียนเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงความหลังสมัยเป็นแพทย์ประจำบ้านด้านศัลยกรรมที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ปีสุดท้ายในฐานะ chief resident สาย B ครับ (หัวหน้าทีมแพทย์ประจำบ้านแผนกศัลยกรรม สายบี)  มีคนไข้ชายวัยกลางคน ผิวคล้ำ ดูแข็งแรงดี เป็น DVT ขาขวารุนแรงมาก ร่วมกับมีภาวะติดเชื้อจนเขียวคล้ำเกือบทั้งขา (PCD) จนเนื้อตาย (Venous gangrene) จึงจำเป็นต้องตัดขาเหนือเข่า หลังจากตัดขาได้ไม่กี่วัน อยู่ดีๆ ก็มีอาการเหนื่อยหอบไม่ทราบสาเหตุ ทำ MRI ของปอดพบว่าเป็น PE ประปรายในปอดทั้ง 2ข้าง ราว 7วันหลังจากนั้นก็เสียชีวิตอย่างเฉียบพลับ ชันสูตรศพพบเป็น PE บริเวณหลอดเลือดแดงขั้วปอด และผลการเพราะเชื้อจากขาที่ติดเชื้อ พบว่าเป็นเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ให้ ทำให้สรุปว่าเสียชีวิตเฉียบพลันจากสาเหตุ PE เป็นหลักครับ ในครั้งแรกที่ผมเห็นภาพขาซ้ายที่บวมมากและแดงคล้ำของหลวงพ่อธัมมชโย ก็คิดถึงผู้ป่วยรายนี้เลยครับ แสดงว่าที่หลวงพ่อธัมมชโยเป็น ถือว่ารุนแรงมากนะครับ ตั้งแต่ผมเป็นศัลยแพทย์มาก็พึ่งจะเคยเห็นคนไข้ที่เป็น May–Thurner syndrome ที่เป็นสาเหตุของ DVT เป็นท่านแรกครับ จึงเป็นกรณีที่น่าศึกษามากครับ

สรุป 
       1. พบว่ามีภาวะหลอดเลือดดำของขาอุดตันเรื้อรังของขาด้านซ้าย สาเหตุเกิดจาก มีการกดทับโคนของหลอดเลือดดำที่รับเลือดมาจากขาซ้าย ทำให้เลือดดำไหลกลับได้ยาก โดยโคนหลอดเลือดแดงที่แยกไปขาด้านขวา หรือ May–Thurner syndrome
      2. พบว่ามีภาวะเลือดดำพร่องเรื้อรังของขาซ้าย จากหลอดเลือดดำของขาอุดตันเรื้อรังข้างเดียวกัน เป็นระยะรุนแรงเนื่องจากขาบวมคล้ำปวดและมีแผลเรื้อรัง เสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง จนต้องตัดขาได้
      3. พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนลิ่มเลือดอุดตันเฉียบพลันของหลอดเลือดดำทางเบี่ยง เป็นจำนวนมากบริเวณต้นขาซ้ายด้านนอก เสี่ยงต่อการเกิด ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงปอดเฉียบพลัน และการขาดเลือดรุนแรงจนต้องตัดขาได้
     4. มีโรคประจำตัวคือ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงและสูงอายุ ทำให้การรักษามีความซับซ้อน และมีภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
      5. มีอาการเหนื่อยไม่ทราบสาเหตุ อาจมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงปอดเฉียบพลัน แบบไม่มาก ควรตรวจ MRI/MRA ของหลอดเลือดแดงขั้วปอดเพื่อยืนยันและวางแผนการรักษาต่อไป

         น่าจะพอตัดสินได้นะครับ ว่าหลวงพ่อธัมมชโยป่วยจริงหรือไม่ และป่วยเป็นโรคอะไรบ้าง ดังนั้นอย่าไปกล่าวหาท่านนะครับ ว่าแกล้งป่วย หรือแพทย์ออกใบรับรองแพทย์อันเป็นเท็จ ส่วนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ถ้าไม่เชื่อใบรับรองแพทย์ หรือสิ่งที่ผมเขียนวิเคราะห์ข้างต้น ก็ควรส่งคณะแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในโรคที่ผมเขียนไป เข้าไปตรวจสอบนะครับ ที่ทำผ่านมาถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วยอย่างร้ายแรงนะครับ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ครับ ขอย้ำอีกครั้งว่า หลวงพ่อท่านเป็นมนุษย์เหมือนกับท่านนะครับ

     ผมจึงเห็นด้วย ที่ลูกศิษย์ของหลวงพ่อทั่วโลก ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม และยื่นเรื่องการละเมิดสิทธิ์ดังกล่าวข้างต้น หลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งที่มีกลุ่มลูกศิษย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอต่อประธานาธิบดีโอบามาเรื่องการละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วยดังกล่าว ท่านที่กระทำการละเมิดสิทธิ์ของผู้ป่วยอย่างร้ายแรงดังกล่าว ยังไม่สายที่จะแก้ตัวใหม่นะครับ อย่าอ้างเลยว่า มันเลยขั้นตอนนั้นมาแล้ว ฟังไม่ขึ้นครับ แล้วทำใหม่ให้มันถูกต้องนะครับ จะเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง อย่ามองเห็นพระมหาเถรที่สั่งสมคุณงามความดีมาตลอดชีวิตของท่าน จนอายุ 72 ปีเศษแล้ว เป็นศัตรูเลยครับ

นายแพทย์ไพโรจน์ ส่งคุณธรรม พ.บ.,วว.ศัลยศาสตร์

2 ความคิดเห็น:

  1. การละเมิดสิทธิของผู้ป่วย เป็นสิ่งเลวร้ายมากครับ
    เท็จจริง ให้ทางแพทย์สภาเข้าไปมีส่วนร่วม ตรวจสอบครับ คนอื่นๆที่ไม่มีความรู้เรื่องแพทย์ ก็อย่าให้ความคิดเห็นเลยครับ

    ตอบลบ
  2. หูกระจงควรปลูกห่างจากตัวบ้าน

    ตอบลบ