วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ใบรับรองแพทย์ ดาบสองคมของผู้ให้และผู้รับ

ใบรับรองแพทย์ ดาบสองคมของผู้ให้และผู้รับ
แทบจะทุกวันที่แพทย์ทุกคนทำงาน ต้องมีการออกใบรับรองแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นใบรับรองแพทย์ยืนยันว่ามาตรวจจริง ลาหยุดงาน นอนโรงพยาบาล หรือตรวจสุขภาพ หรือนำไปประกอบการเบิก เป็นต้น ซึ่งการออกใบรับรองแพทย์เป็นเหมือนดาบสองคม ถ้าเขียนด้วยความละเอียดรอบคอบ ตามข้อเท็จจริงก็จะเกิดประโยชน์ต่อผู้รับ แต่หากเขียนโดยปราศจากความรอบคอบ หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง ก็อาจเกิดผลเสียต่อผู้รับ หรือต่อตัวผู้เขียนเองได้
การออกใบรับรองแพทย์เท็จมีความผิดทางกฎหมายอาญา มาตรา 269
“ผู้ใดในการประกอบการงานในวิชาแพทย์ กฎหมาย บัญชี หรือ วิชาชีพอื่นใด ทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จโดยประกอบการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ”
และ สำหรับประชาชนที่ให้แพทย์ออกใบรับรองให้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง และ นำใบรับรองนั้นไปใช้ ก็จะต้องมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 269 ด้วย
ความผิดเกี่ยวกับข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษามารยาทแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526 หมวดที่ 3 ข้อที่ 9
“ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ออกใบรับรองอันเป็นความเท็จโดยตั้งใจหรือให้ ความเห็นโดย ไม่สุจริตในเรื่องใดเกี่ยวกับวิชาชีพของตน ซึ่งอาจถูกลงโทษถึงขั้นพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ”
ดังนั้น ฝ่ายผู้ขอใบรับรองแพทย์ ควรซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และต่อแพทย์ที่ไปขอให้ออกใบรับรองแพทย์ เพราะไม่มีใครรู้วัตถุประสงค์ของการขอ หรือรายละเอียดของการเจ็บป่วย อาการต่าง ๆ ได้ดีที่สุดเท่าตัวท่านเอง บางครั้งหากท่านไม่บอกความจริง หรือตั้งใจบิดเบือนข้อเท็จจริง อาจนำมาซึ่งความผิดดังกล่าวได้
ฝ่ายแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์ ผู้ที่ออกได้ ต้องเป็นแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งที่ผ่านมาสังคมเขาให้เกียรติ และเคารพในวิชาชีพแพทย์พอสมควร เขาจึงเชื่อถือในใบรับรองแพทย์ที่เราออกไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน ดังนั้นแพทย์เองก็ควรรักษาเกียรติ และความซื่อสัตย์เอาไว้ด้วยเช่นกัน หากเรื่องพื้นฐานแค่นี้ยังรักษาไม่ได้ ก็ยากที่จะไปรักษาผู้ป่วยได้
จึงอยากให้ข้อเตือนใจไว้ดังต่อไปนี้ครับ เกี่ยวกับการออกใบรับรองแพทย์ (โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ ที่กำลังจะเริ่มปฏิบัติงานในเดือนหน้า)
1.อันดับแรกเลย ไม่มีใครสามารถมาบังคับให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ได้ นอกจากใบชันสูตรศพ หรือใบชันสูตรบาดแผล ดังนั้นแพทย์มีสิทธิ์จะไม่ออกได้หากไม่แน่ใจ แต่เมื่อออกไปแล้วถือเป็นหลักฐานสำคัญทางกฎหมาย จึงต้องมีการ “ถาม” โดยละเอียดก่อนทุกครั้งถึงวัตถุประสงค์ของผู้ต้องการใบรับรองแพทย์ และควรบันทึกลงในประวัติเสมอว่าผู้ขอต้องการเอาไปทำอะไร เพราะบางครั้งก็อาจเชื่อไม่ได้ แต่เราได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว
2.มีการตรวจร่างกาย หรือตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น ก่อนออกใบรับรองแพทย์เสมอ ห้ามออกโดยไม่ได้ตรวจคนไข้เด็ดขาด เพราะหลายครั้งอาจเกรงใจ เช่น มีคนรู้จัก หรือญาติเจ้าหน้าที่มาขอเพื่อไปสมัครงาน เป็นต้น เพราะเราไม่มีทางรู้แน่นอนว่าเขาสุขภาพดีจริงหรือเปล่า ไม่มีโรคต้องห้ามจริงหรือเปล่า หรือในวันนั้นนั้นเขาอาจก่อคดีอะไรอยู่ก็ได้แต่เรากลับลงความเห็นว่าได้ตรวจคนไข้ในวันนั้นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เห็นตัวคนไข้ ก็จะเกิดผลเสียต่อเราตามมาได้ หรือหลายครั้งที่ผู้ป่วยเยอะ แพทย์ก็ให้ผู้ช่วยกรอกเอกสารให้หมดและมีหน้าที่เซ็นต์ชื่ออย่างเดียวโดยไม่ได้ตรวจจริง ซึ่งอาจถูกตรวจสอบว่ามีความผิดภายหลังได้
3.การให้หยุดงาน ควรอยู่ในดุลพินิจที่เหมาะสม และมีหลักฐานที่อ้างอิงได้ตามหลักวิชาการทางการแพทย์ ถ้าเห็นว่าไม่ควรหยุดก็ไม่ต้องบอกว่าหยุด ให้ทางหน่วยงานของผู้ขอไปพิจารณาเอาเอง
4.ห้ามออกใบรับรองแพทย์ย้อนหลังโดยเด็ดขาด ถ้าคนไข้ไม่ได้มาตรวจจริงที่โรงพยาบาล เพราะเราไม่มีวันรู้แน่นอนว่าในวันนั้นคนที่มาขอใบรับรองแพทย์ป่วยจริงหรือไม่ หรือไปทำอะไรอยู่ที่ไหน
5.ใบรับรองแพทย์ควรออกด้วยความบริสุทธิ์ใจ ตรงตามความจริง ตามหลักวิชาการ ไม่ยึดติดกับอามิสสินจ้าง เพราะหลายต่อหลายครั้งแพทย์ต้องเขียนรับรองแพทย์ให้ผู้ป่วยเพื่อไปเคลมประกัน ซึ่งแพทย์ส่วนมากจะได้ค่าเขียนใบเคลม และผู้ป่วยก็เอาไปเบิกเงินกับบริษัทประกัน เช่น มีบาดแผลที่นิ้ว แต่เขียนให้หยุดพักรักษาตัว 1 เดือน ซึ่งไม่สมเหตุสมผล ซึ่งบริษัทประกันเขาก็มีแพทย์เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาอยู่แล้ว นอกจากบริษัทจะไม่จ่ายเงินให้แล้วยังอาจฟ้องแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์ได้ด้วย
6.กรณีที่ไม่แน่ใจ หรือไม่สามารถลงความเห็นในใบรับรองแพทย์ได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้มีประสบการณ์ หรือแพทย์นิติเวช และไม่ควรลงความเห็นแบบคิดเอาเอง เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย มีรอยบวมโนที่ศีรษะ ขนาด 3 เซนติเมตร แค่นี้ก็พอ แต่ไม่ต้องไปลงละเอียดแบบคนที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือออกใบรับรองแพทย์สมัครงาน ลงว่า "ไม่พบสารเสพติดในปัสสาวะ" ก็พอ แต่ไม่จำเป็นต้องลงว่าผู้นั้นไม่ได้เสพยาบ้า เป็นต้น
7.ควรบันทึกไว้ในเวชระเบียนทุกครั้ง เช่น ผู้ป่วยมาขอใบรับรองแพทย์หยุดงานกี่วัน เพื่อเป็นหลักฐาน สำหรับแพทย์คนต่อไปที่มาตรวจด้วย เช่น ต้นเดือนก็มาตรวจด้วยถ่ายเหลว ให้หยุดงานไป 3 วัน พอกลางเดือนก็มาขออีก ซ้ำ ๆ แบบนี้แสดงว่าอาจไม่ได้ป่วยจริงก็ได้ และที่สำคัญควรทำสำเนาไว้ทุกครั้งเพื่อเป็นหลักฐานและป้องกันการขูดขีด หรือแก้ไขในภายหลัง
Admin OR No.9 เรื่องเล่าจากห้องผ่าตัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น